ข้อมูลทั่วไป

ที่ตั้ง

ทิศตะวันตกและทิศเหนือติดกับทะเลจีนใต้ ทิศตะวันออกและทิศใต้ติดกับมหาสมุทรแปซิฟิก พื้นที่ ๒๙๘,๑๗๐ ตารางกิโลเมตร (ประมาณ ๓ ใน ๕ ของประเทศไทย) ประกอบด้วย ๗,๑๐๗ เกาะ ชายฝั่งทะเลยาว ๓๔,๖๐๐ กิโลเมตร อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ ๑,๘๐๐ กิโลเมตร

เมืองหลวง

กรุงมะนิลา

ประชากร

๘๘.๗ ล้านคน (๒๕๕๐)

ภูมิอากาศ

อากาศเมืองร้อน

ภาษา

ฟิลิปิโน (Filipino) และอังกฤษเป็นภาษราชการ

ศาสนา

รมันคาธอลิกร้อยละ ๘๓ โปรเตสแตนท์ร้อยละ ๙ มุสลิมร้อยละ ๕ พุทธและอื่น ๆ ร้อยละ ๓

หน่วยเงินตรา

เปโซ (๔๘.๖๔ เปโซ ต่อ ๑ ดอลลาร์สหรัฐ ? มีนาคม ๒๕๕๐)

ผลิตภันฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP)

๑๑๖.๔ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (๒๕๔๙)

รายได้ประชาชาติต่อหัว

๑,๔๒๘ ดอลลาร์สหรัฐ (๒๕๔๙)(GDP per capita)

การขยายตัวทางเศรษฐกิจ

ร้อยละ ๕.๔ (๒๕๔๙)

การเมืองการปกครอง

ระบอบการปกครอง

ประชาธิปไตยแบบประธานาธิบดีเป็นประมุขและหัวหน้าฝ่าย บริหาร (วาระ ๖ ปี) เลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๔๗ ซึ่งอนุญาตให้เลือกตั้งในต่างประเทศได้ เป็นครั้งแรก สถานะวันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๕๐
นโยบายของรัฐบาลชุดปัจจุบัน

๑. การเมืองการปกครอง

๑.๑ ฟิลิปปินส์มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบมีประธานาธิบดีเป็นประมุขและ หัวหน้าฝ่ายบริหาร ประธานาธิบดีคนปัจจุบันคือนางกลอเรีย มาคาปากัล อาร์โรโย (Gloria Macapagal Arroyo) ซึ่งได้รับการรับรองให้เป็นผู้ชนะการเลือกตั้งเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๔๗ และได้แถลงนโยบายและผลงานประจำปีต่อรัฐสภา (State of the Nation Address) เมื่อวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๔๗ สรุปว่า จะดำเนินตามนโยบาย ๑๐ ประการที่ได้ประกาศไว้ในพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่ง ได้แก่


(๑) การปราบปรามการฉ้อราษฎร์บังหลวง
(๒) การสร้างงาน
(๓) การสร้างความยุติธรรมทางสังคมและความต้องการขั้นพื้นฐาน
(๔) การปรับปรุงระบบการศึกษาให้ทันสมัย
(๕) การพึ่งพาและการประหยัดพลังงานภายในประเทศ
(๖) แก้ปัญหาการขาดดุลงบประมาณ
(๗) การลดจำนวนหน่วยงานของรัฐบาล
(๘) การสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ
(๙) การเพิ่มปริมาณการลงทุน
(๑๐) การแก้ไขปัญหาอาชญากรรมและยาเสพติด

๑.๒ ประธานาธิบดีอาร์โรโยมีแนวคิดจะแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเปลี่ยนรูปแบบการปกครอง เป็น แบบรัฐสภา และได้แต่งตั้งคณะกรรมาธิการที่ปรึกษาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๔๘ อย่างไรก็ตาม การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อปฏิรูปการปกครองยังไม่ได้ข้อยุติเนื่องจากหลายฝ่าย ยังมีความเห็นที่แตกต่างกัน แต่รัฐบาลฟิลิปปินส์ยืนยันจะคงผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไปหลังจาก การเลือกตั้งในเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๐ ๑.๓ ฟิลิปปินส์ประสบปัญหากลุ่มก่อความไม่สงบในหมู่เกาะมินดาเนา แบ่งได้เป็น ๓ กลุ่มหลักได้แก่


(๑) กลุ่มที่ต้องการแบ่งแยกดินแดน (secessionist movement) เช่น Moro Islamic Liberation Front (MILF) และ Moro National Liberation Front- Misuari Group (MNLF-MG)
(๒) กลุ่มก่อการร้าย (terrorist group) เช่น Abu Sayyaf Group (ASG) และ Jemaah Islamiya (JI) และ Foreign Militant Jihadist
(๓) กลุ่มคอมมิวนิสต์ (communist insurgency) เช่น Communist Party of the Philippines (CPP), New People?s Army (NPA) และ National Democratic Front (NDF) รัฐบาลฟิลิปปินส์มีนโยบายใช้การเจรจาไกล่เกลี่ยเพื่อแก้ปัญหา โดยคำนึงถึงความต้องการของ ทุกฝ่าย และเร่งพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่และความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประชาชนในพื้นที่ ขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสให้มิตรประเทศสนับสนุนกระบวนการเจรจาสันติภาพ เช่น รัฐบาลมาเลเซียได้ช่วยประสานงานการเจรจาสันติภาพระหว่างรัฐบาลฟิลิปปินส์กับ กลุ่ม MILF สำหรับกลุ่มก่อการร้าย เช่น JI รัฐบาลใช้นโยบายปราบปรามและโดดเดี่ยวกลุ่มผู้ก่อการร้ายมุสลิมไม่ให้ได้รับ ความช่วยเหลือจากต่างประเทศ

เศรษฐกิจการค้า

เศรษฐกิจการค้า

๒. เศรษฐกิจและสังคม

๒.๑ รัฐบาลจะลงทุนอย่างต่อเนื่องในโครงสร้างพื้นฐาน การศึกษา สาธารณสุข การสร้างงาน รวมทั้งมีเป้าหมายที่จะให้มีงบประมาณสมดุลในปี ๒๕๕๑ ในปี ๒๕๔๙ เศรษฐกิจฟิลิปปินส์ขยายตัวร้อยละ ๕.๔ และมีแนวโน้มที่ดีทั้งในตลาดหุ้น การส่งออก การลงทุน การจ้างงาน และความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลยืนยัน

๒.๒ แผนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจใหม่ของฟิลิปปินส์ตามถ้อยแถลงของประธานาธิบดีอาร์โรโย เมื่อ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๔๙ จะเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยการแบ่งเขตที่จะพัฒนาออกเป็น ๕ เขต (Mega Regions) คือ ลูซอนเหนือ เมโทรมะนิลา ฟิลิปปินส์กลาง มินดาเนา และไซเบอร์ คอร์ริดอร์ เพื่อให้สามารถทุ่มงบประมาณเข้าไปพัฒนาพื้นที่หลักทางเศรษฐกิจตรงเป้าหมาย และครอบคลุม รวมทั้งเป็นการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นให้มีส่วนร่วมในการวางแผนพัฒนา เศรษฐกิจมากขึ้น นอกจากนี้ รัฐบาลฟิลิปปินส์พยายามลดเงื่อนไขที่จะเป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกิจใน ฟิลิปปินส์ เพื่อกระตุ้นการลงทุนและการค้า โดยเฉพาะด้าน การท่องเที่ยวและการส่งออก

๒.๓ ปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจฟิลิปปินส์คือ แรงงานฟิลิปปินส์ในต่างประเทศส่งเงินกลับประเทศเพิ่มขึ้น เงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศและเงินทุนสำรองต่างประเทศเพิ่มขึ้น การส่งออกและธุรกิจภาคบริการขยายตัว และอัตราเงินเฟ้อลดลง ส่วนปัจจัยด้านลบ ได้แก่ ปัญหาจากภัยก่อการร้าย ซึ่งกดดันบรรยากาศการลงทุนของประเทศ การชะลอตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญอย่างสหรัฐฯ และจีน ที่คาดว่าจะส่งผลให้สินค้าส่งออกของฟิลิปปินส์ไปประเทศเหล่านี้ชะลอตัว ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่อยู่ในระดับสูง และมาตรการกีดกันการค้าที่มิใช่ภาษี (Non-Tariff Barriers : NTBs) ในรูปแบบต่างๆ

๒.๔ ปัญหาเศรษฐกิจและสังคมของฟิลิปปินส์ ได้แก่ ปัญหาการว่างงาน ปัญหาความยากจน ปัญหาความไม่มั่นคงทางการเมือง และอุปสรรคจากความล่าช้าของขั้นตอนการดำเนินงานภาครัฐ ซึ่งส่งผลกระทบต่อบรรยากาศด้านการลงทุนและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ยังมีปัญหาการกระจายรายได้และการปฏิรูปที่ดินที่ล่าช้า ทำให้พื้นที่การเกษตรโดยเฉลี่ยลดลง

๓. นโยบายต่างประเทศ

ในด้านความมั่นคง รัฐบาลฟิลิปปินส์ให้ความสำคัญต่อการเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีกับประเทศ ต่าง ๆ ในทุกภูมิภาค โดยมีการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างกัน การหารือทางการเมือง การประชุมคณะกรรมาธิการร่วมในด้านต่าง ๆ การลงนามความตกลงทวิภาคี รวมทั้งส่งเสริมความสัมพันธ์ทางทหารและความมั่นคงกับประเทศต่าง ๆ อาทิ สหรัฐฯ และประเทศสมาชิกอาเซียน โดยการแลกเปลี่ยนการฝึกร่วมทางทหารทั้งในระดับทวิภาคี (กับสหรัฐฯ) อาทิ Balikatan และระดับพหุภาคี (กับสหรัฐฯ ไทย และประเทศสมาชิกอาเซียนบางประเทศ) อาทิ Cooperation Afloat Readiness and Training (CARAT) Cobra Gold และ Team Challenge

ฟิลิปปินส์ส่งเสริมความร่วมมือในระดับภูมิภาคและพหุภาคี โดยการเข้าไปมีส่วนร่วมอย่าง แข็งขันในกรอบความร่วมมือและเวทีระหว่างประเทศต่าง ๆ อาทิ อาเซียน กรอบความร่วมมือของเอเชียตะวันออก-ละตินอเมริกา (Forum for East Asia-Latin America Cooperation ? FEALAC ซึ่งฟิลิปปินส์ ได้เป็นเจ้าภาพจัดประชุมระดับรัฐมนตรี FEALAC เมื่อวันที่ ๓๐ ? ๓๑ มกราคม ๒๕๔๗) การประชุม Pacific Islands Forum และการประชุมต่าง ๆ ขององค์การสหประชาชาติ ฟิลิปปินส์มีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นและมีลักษณะพิเศษกับสหรัฐฯ เนื่องจากความเกี่ยวพัน ทางประวัติศาสตร์ แม้ว่าในปัจจุบันฟิลิปปินส์จะดำเนินนโยบายต่างประเทศกับสหรัฐฯ ในลักษณะสองทิศทาง คือ พยายามเป็นอิสระ (โดยยกเลิกการให้สหรัฐฯ ใช้ฐานทัพเรือที่อ่าวซูบิก (Subic) และฐานทัพอากาศคลาร์ก (Clark) แต่ก็ยังคงเป็นพันธมิตรด้านความมั่นคงภายใต้ความตกลงว่าด้วยการใช้ฐานทัพ ฟิลิปปินส์ของกองทัพสหรัฐฯ (Visiting Force Agreement ? VFA) เมื่อปี ๒๕๔๑

ในระหว่างการเยือนสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการของประธานาธิบดีฟิลิปปินส์เมื่อวันที่ ๑๗ ? ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๔๖ รัฐบาลฟิลิปปินส์ได้แสดงจุดยืนที่ชัดเจนในการสนับสนุนการปฏิบัติการ ตอบโต้การก่อการร้ายและสงครามในอิรักของสหรัฐฯ ซึ่งสหรัฐฯ ได้ตอบแทนด้วยการให้ความช่วยเหลือ ทั้งด้านการทหารและเศรษฐกิจ เช่น สนับสนุนเจ้าหน้าที่ฝึกอบรมทางทหารแก่ฟิลิปปินส์ ภายใต้งบประมาณจำนวน ๙๕ ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อต่อต้านกลุ่มก่อการร้ายในฟิลิปปินส์ ลดอัตราค่าธรรมเนียมการส่งเงินจากสหรัฐฯ ไปฟิลิปปินส์ เพื่อช่วยให้ชาวฟิลิปปินส์ในสหรัฐฯ เสียค่าใช้จ่ายในการส่งเงินกลับประเทศน้อยลง นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังประกาศยกเว้นภาษีศุลกากรนำเข้าสินค้าบางประเภทจากฟิลิปปินส์ และเพิ่มสวัสดิการความช่วยเหลือแก่ทหารผ่านศึกในสงครามโลก ครั้งที่ ๒ ซึ่งเป็นชาวฟิลิปปินส์ที่อาศัยอยู่ในสหรัฐฯ

ในส่วนของการทูตเพื่อการพัฒนาประเทศนั้น รัฐบาลฟิลิปปินส์ได้ดำเนินการโดย

(๑) การส่งเสริมความสัมพันธ์ทางการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว ทั้งในระดับทวิภาคี ภูมิภาค และพหุภาคี อาทิ ในกรอบเขตการค้าเสรีอาเซียน กรอบความร่วมมือ Brunei-Indonesia-Malaysia-Philippines-East ASEAN Growth Area (BIMP-EAGA) กรอบ Asia-Pacific Economic Cooperation (APEC) การประชุมเอเชีย-ยุโรป (ASEM) องค์การการค้าโลก และสหประชาชาติ

(๒) การส่งเสริมโครงการความร่วมมือเพื่อการพัฒนากับประเทศต่าง ๆ อาทิ ญี่ปุ่น สวีเดน เยอรมนี สาธารณรัฐเช็ก และคณะกรรมาธิการยุโรป

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐฟิลิปปินส์

?

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับฟิลิปปินส์

๑. ความสัมพันธ์ทั่วไป

๑.๑ การทูต

ไทยสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับฟิลิปปินส์เมื่อวันที่ ๑๒ กันยายน ๒๔๙๒ เอกอัครราชทูต ณ กรุงมะนิลาคนปัจจุบันคือ นางอัชฌา ทวีติยานนท์ และมีหน่วยงานในสถานเอกอัครราชทูตฯ ได้แก่ สำนักงานผู้ช่วยทูตฝ่ายทหาร และสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ

๑.๒ การเมือง

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับฟิลิปปินส์ดำเนินไปอย่างราบรื่นและใกล้ชิดมานาน ฟิลิปปินส์เป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ไทยสถาปนาความสัมพันธ์ ทางการทูตด้วย และเป็นประเทศผู้ก่อตั้งอาเซียนเช่นเดียวกับไทย และเป็นแนวร่วมของไทยในเวทีระหว่างประเทศ เนื่องจากมีทัศนคติและแนวคิดคล้ายคลึงกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน ทั้งสองฝ่ายมีกลไกส่งเสริมความสัมพันธ์ทวิภาคี ได้แก่ คณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือ (Joint Commission ? JC) ตั้งเมื่อปี ๒๕๓๖ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของ

ทั้งสองฝ่ายเป็นประธานร่วม (ประชุมครั้งที่ ๑ ที่กรุงมะนิลา เมื่อวันที่ ๑ - ๔ มีนาคม ๒๕๓๗ ครั้งที่ ๒ ที่ภูเก็ต เมื่อวันที่ ๒๗ - ๒๙ เมษายน ๒๕๔๐ ครั้งที่ ๓ ที่กรุงมะนิลา เมื่อวันที่ ๑๐ - ๑๓ มิถุนายน ๒๕๔๒ และไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม JC ครั้งที่ ๔ ในวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๕๐)

สำหรับท่าทีของฝ่ายฟิลิปปินส์ต่อสถานการณ์การเมืองของไทยนั้น ประธานาธิบดีอาร์โรโยกล่าวว่า ฟิลิปปินส์ร่วมกับประชาคมโลกเรียกร้องให้มีการปฏิบัติตามหลักนิติรัฐ (the rule of law) และกลับคืนสู่ประชาธิปไตยโดยเร็วที่สุด และในฐานะเพื่อนบ้านและพันธมิตรอาเซียน ฟิลิปปินส์อยู่เคียงข้าง ประชาชนชาวไทยในการแสวงหาและนำมาซึ่งสันติภาพและความเป็นเอกภาพภายในประเทศ และมองว่าเป็นการดีที่เหตุการณ์ทางการเมืองในไทยที่ผ่านมาไม่ก่อให้เกิดการ สูญเสียเลือดเนื้อของประชาชน และโฆษกทำเนียบประธานาธิบดีได้ออกแถลงการณ์ว่า ฟิลิปปินส์รู้สึกคลายความกังวลที่สถานการณ์ทาง การเมืองในไทยได้คลี่คลายลง และสถานที่ราชการและธุรกิจต่างๆ ได้เปิดทำการดังเดิม ทั้งนี้ ฟิลิปปินส์ปรารถนาที่จะเห็นสันติภาพและความสามัคคีเกิดขึ้นในสังคมไทย ในขณะที่คาดว่าจะมีการฟื้นฟูกระบวนการประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ขึ้นโดยเร็ว ที่สุด โดยไทยยังเป็นพันธมิตรที่สำคัญของฟิลิปปินส์ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ ความมั่นคง การต่อต้านการก่อการร้าย และการแก้ไขปัญหาความยากจน หลังจากนั้น เมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๕๔๙ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางเยือนฟิลิปปินส์อย่างเป็นทางการ

๑.๓ ความมั่นคง

ไทยกับฟิลิปปินส์มีความร่วมมือด้านการทหารอย่างใกล้ชิด อาทิ การจัดส่งนักเรียนนายร้อย ของไทยเข้าศึกษาในโรงเรียนนายร้อยฟิลิปปินส์ การแลกเปลี่ยนนายทหารเข้าอบรมในหลักสูตรเสนาธิการ ทหาร การแลกเปลี่ยนการดูงานของนักศึกษาในหลักสูตรวิชาทหารต่าง ๆ การสัมมนาแลกเปลี่ยนข่าวกรองทางทหารระหว่างกัน และการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างผู้นำเหล่าทัพ โดยฟิลิปปินส์ได้เข้าร่วมสังเกตการณ์การฝึกคอบร้าโกลด์ และได้เข้าร่วมการฝึก Command Post Exercise (CPX) ในปี ๒๕๔๗ ด้วย นอกจากนั้น รัฐบาลไทยได้มอบเครื่องบินโจมตีแบบ OV-๑๐ ซึ่งปลดประจำการแล้วของกองทัพอากาศตามคำขอของรัฐบาลฟิลิปปินส์ด้วย จำนวน ๘ ลำ ในปี ๒๕๔๖-๔๗

๑.๔ เศรษฐกิจ

๑.๔.๑ การค้า

การค้าระหว่างไทยกับฟิลิปปินส์ในปี ๒๕๔๙ มีมูลค่า ๔,๖๘๔.๔ ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี ๒๕๔๘ ร้อยละ ๑๘.๘ ไทยส่งออกไปฟิลิปปินส์ ๒,๕๘๐.๓ ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ ๒๕.๒ และนำเข้าจากฟิลิปปินส์ ๒,๑๐๔.๑ ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ ๑๔.๕ ไทยได้เปรียบดุลการค้า ๔๗๖.๒ ล้านดอลลาร์สหรัฐ

การส่งออกสินค้าไปฟิลิปปินส์ในปี ๒๕๔๙ คิดเป็นร้อยละ ๒ ของมูลค่าการส่งออกรวมของไทย สินค้าไทยมีส่วนแบ่งตลาดในฟิลิปปินส์ประมาณร้อยละ ๓.๕ สินค้าออกรายการสำคัญที่มีมูลค่าการส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ แผงวงจรไฟฟ้า รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ น้ำมันสำเร็จรูป รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก เครื่องสำอาง เหล็กกล้า เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกล ผลิตภัณฑ์ยาง ผลิตภัณฑ์พลาสติก เครื่องรับโทรทัศน์ และกระดาษ

สินค้าสำคัญที่ไทยนำเข้าจากฟิลิปปินส์ ประกอบด้วย เครื่องคอมพิวเตอร์ แผงวงจรไฟฟ้า ส่วนประกอบอุปกรณ์ยานพาหนะ รถยนต์นั่ง เครื่องจักรกล สินแร่โลหะและเศษโลหะ เครื่องมือทางการแพทย์ ยาสูบ สัตว์น้ำ เครื่องใช้ไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์จากพลาสติก เป็นต้น แนวโน้มการส่งออกของไทยไปฟิลิปปินส์ในปี ๒๕๕๐ คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ ๑๘ มีมูลค่า ๓,๐๔๔.๕ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้การส่งออกของไทยไปฟิลิปปินส์ขยายตัว คือ การขยายตัวทางเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์อย่างต่อเนื่อง การขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชน เงินรายได้จากแรงงานฟิลิปปินส์ในต่างประเทศ การลงทุนภาครัฐบาลในโครงการระบบสาธารณูปโภค สินค้าที่มีแนวโน้มการส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยานยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องรับวิทยุและโทรทัศน์ ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูป เคื่องสำอาง เภสัชภัณฑ์ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น

ไทยกับฟิลิปปินส์ได้ลงนามความตกลงทางการค้าเมื่อปี ๒๕๔๒ และได้จัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมทางด้านการค้า (Joint Trade Commission ? JTC) ภายใต้ความตกลงดังกล่าว และทั้งจะพิจารณาจัดการประชุม JTC ครั้งที่ ๑ ต่อไป ภายในปี ๒๕๕๐

รัฐบาลฟิลิปปินส์ปัจจุบันให้ความสนใจกับนโยบายด้านเศรษฐกิจของไทย ดังจะเห็นได้จากการประกาศโครงการ ?One Town, One Product, One Million Pesos? ซึ่งคล้ายคลึงกับโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์และกองทุนหมู่บ้านของไทย นอกจากนั้น ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ยังประกาศใช้นโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมขนาดกลางและ ย่อมโดยดูตัวอย่างจากไทยอีกด้วย

๑.๔.๒ การลงทุน

บริษัทไทยที่ไปลงทุนในฟิลิปปินส์ ได้แก่ บมจ.ปตท. บมจ.ปูนซีเมนต์ไทย และเครือเจริญโภคภัณฑ์ ส่วนฟิลิปปินส์มาลงทุนในไทยในระดับน่าพอใจ บริษัทฟิลิปปินส์ที่ลงทุนในไทย เช่น บริษัท Universal Robina บริษัท San Miguel และ Liwayway Food Industries

๑.๔.๓ การท่องเที่ยว

ไทยและฟิลิปปินส์มีความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว ลงนามเมื่อวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๓๖ ในปี ๒๕๔๙ มีนักท่องเที่ยวชาวฟิลิปปินส์มาไทย ๑๙๘,๔๔๓ คน ในการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีไทย-ฟิลิปปินส์ ครั้งที่ ๔ เมื่อวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๕๐ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะกระชับความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว โดยให้มีการแลกเปลี่ยนการเยือนของผู้บริหารระดับสูง การจัด Business Matching และการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการท่องเที่ยว โดยเฉพาะในสาขาที่ไทยมีศักยภาพ อาทิ การส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนที่สนับสนุนการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและ การมีส่วนร่วมของประชาชนในท้องถิ่น นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบที่จะขยายความร่วมมือทางการบินระหว่างกันและจะให้มีการ เจรจาการบินภายในปี ๒๕๕๐

๑.๕ สังคมและวัฒนธรรม

ไทยกับฟิลิปปินส์ได้ลงนามในความตกลงทางวัฒนธรรมเมื่อวันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๑๘ และ เมื่อปี ๒๕๓๙ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมะนิลาได้จัดกิจกรรมเพื่อร่วมเฉลิมฉลองพระราชพิธีกาญจนาภิเษก โดยได้เลี้ยงอาหารกลางวันแก่เด็กกำพร้าและเด็กพิการ และสร้างศาลาเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ มหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์ด้วย

นอกจากนี้ เมื่อปี ๒๕๔๒ เนื่องในโอกาสการฉลองครบรอบ ๕๐ ปีของการสถาปนา ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน ฟิลิปปินส์ได้มีการจัดพิมพ์แสตมป์ที่ระลึก ใช้ชื่อประเทศไทยเป็นชื่อ ถนน Rada (Thailand) Street ในกรุงมะนิลาและตั้งวงเวียนมิตรภาพฟิลิปปินส์-ไทยที่กรุงมะนิลา ส่วนประเทศไทยได้เปลี่ยนชื่อซอยข้างสถานเอกอัครราชทูตฟิลิปปินส์ในกรุงเทพฯ (ซอยสุขุมวิท ๓๐/๑) เป็น ?ซอยฟิลิปปินส์?

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมะนิลาได้ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ของไทยจัดงานเทศกาลอาหารไทยต่อเนื่องมาหลายปี จนเป็นที่รู้จักในหมู่ประชาชนในกรุงมะนิลามากขึ้นและมีการพูดถึงในสื่อมวลชน ฟิลิปปินส์ ซึ่งในงานมีร้านอาหารไทยในกรุงมะนิลาและผู้นำเข้าสินค้าไทยร่วมออกร้าน มีการสาธิตการทำอาหารไทย การแสดงศิลปวัฒนธรรมไทย มีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยการจัดงานประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี

ในปี ๒๕๔๙ เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครอง สิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้จัดกิจกรรม ดังนี้


๑. มอบรายได้จากการจัดงานเทศกาลอาหารไทยส่วนหนึ่งแก่ Early Childhood Education Division, Social Service Department ของเมือง Muntinlupa สำหรับก่อสร้างอาคารเรียนหลังใหม่ให้แก่ Sucat Day Care Center รวมทั้งมอบให้มูลนิธิ Munting Kalinga เพื่อเป็นทุนการศึกษาแก่นักเรียนที่ยากไร้ในพื้นที่ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล

๒. คณะวงดนตรี Bangkok Symphony Orchestra (BSO) นำโดย ม.ล.อัศนี ปราโมช องคมนตรี ได้เดินทางไปแสดงดนตรีคอนเสิร์ตเพลงพระราชนิพนธ์ที่กรุงมะนิลา ด้วยความร่วมมือของ Cultural Center of the Philippines เมื่อวันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๔๙ โดยประธานาธิบดีอาร์โรโย และอดีต ประธานาธิบดีรามอส ได้ไปร่วมชมการแสดงด้วย

คณะสื่อมวลชนชั้นนำของฟิลิปปินส์ได้เดินทางเยือนไทยอย่างสม่ำเสมอ โดยฝ่ายไทยได้ จัดให้เยี่ยมชมสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมไทย โดยมีวัตถุประสงค์ให้บุคคลเหล่านี้นำข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับประเทศไทย กลับไปเผยแพร่ในฟิลิปปินส์ และในแต่ละปีได้มีการประกวดเรียงความเกี่ยวกับประเทศไทยสำหรับนักเรียนและ นักศึกษาในฟิลิปปินส์ เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนของฟิลิปปินส์มีความเข้าใจเกี่ยวกับประเทศไทยมากขึ้น

ไทยมีความร่วมมือทางวิชาการกับฟิลิปปินส์ โดยจัดสรรทุนฝึกอบรมประจำปีให้แก่บุคลากรฟิลิปปินส์ในสาขาต่าง ๆ อาทิ การเกษตร ประมง สิ่งแวดล้อม สุขอนามัย การพัฒนาชุมชน และไทยได้มอบเงินช่วยเหลือมูลค่ากว่า ๓๐ ล้านบาทแก่รัฐบาลฟิลิปปินส์สำหรับเป็นเงินทุนสร้างศูนย์เก็บรักษาและแปรรูป ผลผลิตทางการเกษตรภายหลังการเก็บเกี่ยวที่มหาวิทยาลัยปังกาสินัน รวมทั้งได้จัดสรรทุนฝึกอบรมแก่ผู้เชี่ยวชาญฟิลิปปินส์ซึ่งจะปฏิบัติงานที่ ศูนย์แห่งนี้ด้วย

ในปี ๒๕๔๙ ไทยได้ให้ความช่วยเหลือแก่ฟิลิปปินส์เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากภัยพิบัติ ทางธรรมชาติ เช่น มอบเงิน ๑๐๐,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ เพื่อช่วยผู้ประสบภัยแผ่นดินถล่มที่จังหวัด Southern Leyte เมื่อวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙ และบริจาคข้าวสารจำนวน ๑,๐๐๐ ตัน ให้ผู้ประสบภัยจากไต้ฝุ่นทุเรียน ซึ่งเป็นพายุที่สร้างความเสียหายมากที่สุดที่เข้าถล่มฟิลิปปินส์เมื่อวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๔๙ โดยนายกรัฐมนตรีได้ส่งสารแสดงความเสียใจถึงประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ด้วย

๑.๖ แนวโน้มความสัมพันธ์

ไทยและฟิลิปปินส์จะฉลองครบ ๖๐ ปีความสัมพันธ์ทางการทูตในปี ๒๕๕๒ ทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์ที่ดีและไม่เคยมีปัญหาความขัดแย้งรุนแรง เป็นพัธมิตรทางยุทธศาสตร์ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และความมั่นคง ฟิลิปปินส์สามารถเป็นแนวร่วมของไทยในเวทีระหว่างประเทศเพราะมีทัศนคติ คล้ายคลึงกัน โดยเฉพาะเรื่องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน จากการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีไทยและฟิลิปปินส์ ครั้งที่ ๔ เมื่อวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๕๐ ทั้งสองฝ่ายได้พิจารณาเห็นชอบโครงการและกิจกรรมที่จะส่งเสริมและขยายความ ร่วมมือระหว่างกันในด้านต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน ทั้งทางด้านการค้าการลงทุน การเกษตร ท่องเที่ยว พลังงาน การศึกษาและวัฒนธรรม และความมั่นคง

๒. ความตกลงที่สำคัญ ๆ กับไทย


๒.๑ ความตกลงว่าด้วยความช่วยเหลือทางทหาร (ลงนามเมื่อวันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๔๙๐)
๒.๒ ความตกลงว่าด้วยไมตรี การพาณิชย์ และการเดินเรือ (ลงนามเมื่อวันที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๔๙๒)
๒.๓ ความตกลงว่าด้วยบริการเดินทางอากาศ (ลงนามเมื่อวันที่ ๒๗ เมษายน ๒๔๙๖)
๒.๔ ความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราหนังสือเดินทางทูตและราชการ (ลงนามเมื่อวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๐๕)
๒.๕ ความตกลงว่าด้วยที่ดิน (ลงนามเมื่อวันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๐๖)
๒.๖ ความตกลงทางวัฒนธรรม (ลงนามเมื่อวันที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๑๘)
๒.๗ ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางการเกษตร (ลงนามเมื่อวันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๒๒)
๒.๘ ความตกลงว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดน (ลงนามเมื่อวันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๒๔)
๒.๙ ความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการเก็บภาษีซ้อน (ลงนามเมื่อวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๒๕)
๒.๑๐ ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และวิชาการ (ลงนามเมื่อวันที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๒๖)
๒.๑๑ ความตกลงจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีไทย-ฟิลิปปินส์ (ลงนาม เมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๓๕)
๒.๑๒ ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว (ลงนามเมื่อวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๓๖)
๒.๑๓ ความตกลงส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน (ลงนามเมื่อวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๓๘)
๒.๑๔ บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาการเกษตร (ลงนามเมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๔๐)
๒.๑๕ บันทึกความเข้าใจด้านความร่วมมือทางทหาร (ลงนามเมื่อวันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๔๐)
๒.๑๖ ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม (ลงนามเมื่อวันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๔๑)
๒.๑๗ บันทึกความเข้าใจการขจัดคราบน้ำมัน (ลงนามเมื่อวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๔๒)
๒.๑๘ ความตกลงทางการค้า (ลงนามเมื่อวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๒)
๒.๑๙ สนธิสัญญาการโอนตัวนักโทษ (ลงนามเมื่อวันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๔๔)
๒.๒๐ ความตกลงแลกเปลี่ยนข้อสนเทศ และจัดตั้งวิธีการดำเนินการในการสื่อสาร (ลงนามเมื่อวันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๔๕)
๒.๒๑ บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการเกษตร (ลงนามเมื่อวันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๔๖)
๒.๒๒ บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในกิจกรรมเกี่ยวกับน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ (ลงนามเมื่อวันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๔๖)

๓. การเยือนที่สำคัญ

๓.๑ ฝ่ายไทย

พระราชวงศ์
รัฐบาล

๓.๒ ฝ่ายฟิลิปปินส์

เวบไซต์หน่วยงานฟิลิปปินส์อื่น ๆ (LINKS)