จากบทความตอนที่ ๑ เรื่องการเตรียมตัวจากภัยธรรมชาติจากภูเขาไฟ และตอนที่ ๒ ที่ได้เล่าถึง ภัยธรรมชาติจากพายุไต้ฝุ่นของฟิลิปปินส์ ซึ่งจะส่งผลความเสียหายตั้งแต่การเสียชีวิตของผู้คน คนสูญหาย ทรัพย์สิน บ้านเรือน ที่ดินเพาะปลูก และผลิตผลทางการเกษตรถูกทำลาย ตลอดจนภัยพิบัติอื่นๆ ตามมา เช่น ดินโคลนถล่ม น้ำท่วมฉับพลัน น้ำท่วมขัง ลมพายุที่พัดโค่นต้นไม้ และบ้านเรือนเสียหาย และโรคภัยต่างๆ เช่น ไข้เลือดออก ฉี่หนู น้ำกัดเท้า เป็นต้น เราจะเตรียมตัวอย่างไรให้ปลอดภัยจากภัยพิบัติเหล่านี้
ภัยธรรมชาติของฟิลิปปินส์ ที่เป็นรู้จัก และคุ้นเคยอย่างดีสำหรับพวกเราคนไทย ก็คือ พายุไต้ฝุ่น ซึ่งหากท่านดูพยากรณ์อากาศของสถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแบบแฟนประจำหรือดูบางครั้งบางคราว จะเห็นได้เสมอว่าในช่วงปีหนึ่งๆ นั้น ฟิลิปปินส์จะเป็นประเทศที่มีพายุไต้ฝุ่นพัดเข้าหลายๆ ลูก เมื่อเปรียบเทียบกับบ้านเราแล้ว ประเทศไทยจะประสบกับภัยธรรมชาติจากพายุไต้ฝุ่นน้อยกว่ามากๆ
ฟิลิปปินส์ ถือเป็นประเทศที่ประสบภัยธรรมชาติในรูปแบบค่อนข้างหลากหลาย ตั้งแต่ภูเขาไฟปะทุ แผ่นดินไหว พายุไต้ฝุ่น ลมพายุ? น้ำท่วมฉับพลันและดินโคลนถล่ม ภัยธรรมชาติต่างๆ เหล่านี้ ในบางครั้งนำมาซึ่งภัยพิบัติทางธรรมชาติที่มีความรุนแรง และก่อให้เกิดความเสียหายมาก กลไกหนึ่งที่ทางการฟิลิปปินส์ได้มีมาตรการป้องกัน และการเตรียมการอย่างเป็น ระบบ ก็คือ การให้ข้อแนะนำในการปฏิบัติตัว/ระมัดระวังตัวจากภัยพิบัติ และการเตือนภัยล่วงหน้าแก่สาธารณชน